วันศุกร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2551

หลักปรัชญาพลศึกษา


ปรัชญาพลศึกษาตามแนวปรัชญาการศึกษา
โปรดอ่านหัวเรื่อง แนวคิด วัตถุประสงค์ของตอนที่ 4.2 แล้วจึงศึกษารายละเอียดต่อไป
หัวเรื่อง
4.2.1 ปรัชญาพลศึกษาตามแนวปรัชญาการศึกษาจิตนิยม
4.2.2 ปรัชญาพลศึกษาตามแนวปรัชญาการศึกษาสัจจนิยม
4.2.3 ปรัชญาพลศึกษาตามแนวปรัชญาการศึกษาประสบการณ์นิยม
4.2.4 ปรัชญาพลศึกษาตามแนวปรัชญาการศึกษาอัตถิภาวนิยม
แนวคิด
ปรัชญาการศึกษา เป็นแนวคิดที่นักการศึกษายึดเป็นหลักในการจัดการศึกษาในแต่ละยุค
แนวคิดดังกล่าวส่งผลต่อไปยังปรัชญา หรือแนวคิดในการจัดพลศึกษา
วัตถุประสงค์
เมื่อศึกษาตอนที่ 4.2 จบแล้ว นักศึกษาสามารถ
1. อธิบายการจัดพลศึกษาตามแนวปรัชญาการศึกษาจิตนิยมได้
2. อธิบายการจัดพลศึกษาตามแนวปรัชญาการศึกษาสัจจนิยมได้
3. อธิบายการจัดพลศึกษาตามแนวปรัชญาการศึกษาประสบการณ์นิยมได้
4. อธิบายการจัดพลศึกษาตามแนวปรัชญาการศึกษาอัตถิภาวนิยมได้
เรื่องที่ 4.2.1
ปรัชญาพลศึกษาตามแนวปรัชญาการศึกษาจิตนิยม (Idealism)
ปรัชญาการศึกษาจิตนิยม
ปรัชญาการศึกษาจิตนิยม มีชื่อเรียกได้หลายอย่าง เช่น อุดมคตินิยม มโนคตินิยม หรือ
จินตนาการนิยม เป็นต้น ปรัชญาเมธีผู้ให้กำเนิด คือ พลาโต (Plato) นักปรัชญาชาวกรีก ทัศนะด้านปรัชญาของพลาโต ยึดทฤษฎีว่าด้วยแบบ (Theory of Forms)ที่ถือว่าความรู้ทั้งปวงมาจากแบบลักษณะรูปร่างและคุณสมบัติต่าง ๆ ของสรรพสิ่งทั้งหลายที่ปรากฏแก่สายตานั้น เป็นเพียงรูปลักษณะที่ได้จากการสัมผัสด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ มิใช่เป็นลักษณะที่แท้จริง แบบจึงเป็นเพียงความจริงที่ปรากฎที่รับรู้ด้วยประสาทสัมผัสเป็นอิสระจากจิต สรรพสิ่งทั้งหลายต่างก็มีแบบด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งทั้งที่เป็นรูปธรรมและคุณสมบัติ เช่น แบบของต้นไม้ แบบของคน แบบของสุนัข เป็นแบบที่เป็นรูปธรรม ส่วนแบบของสี แบบของรส แบบของคุณภาพ เป็นแบบที่เป็นคุณสมบัติ การที่จะเข้าถึงความจริงแท้ของสรรพสิ่งทั้งหลาย จะต้องบรรลุถึงความรู้ใน “ แบบ ” ของสิ่งนั้น ๆ ทั้งทางรูปธรรมและคุณสมบัติ (วิจิตร ศรีสะอ้าน,2533 : 242)
ทางด้านจริยศาสตร์ พลาโตเชื่อศีลธรรมคือความดีที่มีค่าในตัวเอง คุณธรรมมี 2 ประการ
คือ คุณธรรมทางปรัชญา และคุณธรรมทางสังคม คุณธรรมทางปรัชญาจะต้องอาศัยปัญญาและความเข้าใจในหลักการนั้น ๆ ส่วนคุณธรรมทางสังคม เป็นการกระทำที่ถูกต้องตามครรลองของขนบธรรมเนียมประเพณีและความเชื่อ ซึ่งอาจจะนำไปสู่คุณธรรมทางปรัชญาอันเป็นคุณธรรมสูงสุด ในทัศนะของพลาโตคุณธรรมของมนุษย์ มี 4 ประการ คือ
1. คุณธรรมของเหตุผล คือ ปัญญา ผู้ที่มีปัญญาย่อมรู้ว่าอะไรคือความดี รู้ว่าอะไรดีสำหรับตนและผู้อื่น
คุณธรรมของวิญญาณฝ่ายสูง คือ ความกล้าหาญ สามารถรู้ว่าอะไรควรกลัว อะไรไม่
ควรกลัว และรู้ว่าความกลัวที่แท้จริงนั้นคือกลัวความชั่ว
คุณธรรมของความกระหายฝ่ายต่ำ คือ ความพอดีกับความข่มใจ หรือการรู้จักควบคุม
ตนเอง และรู้จักเสียสละ
คุณธรรมของความยุติธรรม คุณธรรมข้อนี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อคุณธรรมทั้ง 3
ประการ ดังที่กล่าวมาได้ทำหน้าที่ของมันโดยสมบูรณ์แล้ว
ทัศนะทางการศึกษาของพลาโต ถือว่าการศึกษาจะมีการเจริญเติบโต ต้องมีการอบรม
จิตใจให้มีระเบียบวินัย รู้จักใช้ความคิดอย่างมีระเบียบ ปรัชญาการศึกษาสาขานี้จึงยึดโลกทัศน์ว่า “ โลกนี้เป็นโลกแห่งจิตใจ ”(A World of Mind) การพัฒนาความคิดและจิตใจจึงเป็นจุดมุ่งหมายของปรัชญาสาขานี้
แนวทางเกี่ยวกับการจัดการศึกษา
ฐิติพงษ์ ธรรมานุสรณ์และคณะ(2522 : 59) กล่าวถึงแนวทางเกี่ยวกับการจัดการศึกษาดังนี้
1. การจัดโรงเรียน โรงเรียนตามแนวทางปรัชญาการศึกษาจิตนิยม จะเน้นการเสริมสร้างสิ่งแวดล้อมทางความคิดให้แก่ผู้เรียน โดยมุ่งพัฒนาคุณภาพของความคิดและความเจริญ งอกงามทางจิตใจ สิ่งแวดล้อมที่สนับสนุนทางความคิด คือ สัญลักษณ์ โรงเรียนจึงต้องใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ เป็นสื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกการคิดและการแสดงออกเป็นการพัฒนาจิตใจ โรงเรียนตามแนวทางปรัชญาการศึกษาจิตนิยมจึงมุ่งสร้างคนให้เป็น “นักศิลปะและภาษา” (Man of Art and Letters)
2. การจัดการหลักสูตร หลักสูตรการศึกษาตามแนวทางปรัชญาการศึกษาจิตนิยม
มุ่งเน้นเนื้อหาการพัฒนาความคิดและจิตใจ วิชาที่ได้รับการเน้นเป็นพิเศษ คือ ภาษา วรรณคดี ปรัชญา ศาสนา และศิลปะ คณิตศาสตร์ และประวัติศาสตร์ เป็นต้น โดยมีกลุ่มวิชาศิลปะภาษา (Language Arts) เป็นแกนสำคัญของหลักสูตร
3. การจัดการเรียนการสอน การเรียนการสอนตามแนวทางปรัชญาการศึกษาจิตนิยม
เน้นการใช้สัญลักษณ์เป็นสื่อ กิจกรรมการเรียนการสอนจึงเน้นเรื่องการฟัง การจดจำ การอ่าน และการค้นคว้าจากตำรา ส่วนบทบาทของครูจะต้องเป็นแม่พิมพ์ที่ดี ทั้งด้านความรู้และความประพฤติ ต้องมีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้โดยใช้สัญลักษณ์
4. การปลูกฝังค่านิยม การปลูกฝังค่านิยมตามแนวทางปรัชญาการศึกษาจิตนิยม ให้ความสำคัญเรื่องจริยศึกษาเป็นกรณีพิเศษ โดยยึดแบบจริยศึกษาที่ได้มาจากบรรพบุรุษขนบธรรมเนียมประเพณีและคำสอนของผู้ใหญ่ ส่วนด้านสุนทรียภาพ เน้นการศึกษา ผลงานด้านศิลปกรรมที่สำคัญ โดยฝึกให้จำ ลอก และเลียนแบบสิ่งที่ดี
พลศึกษาตามแนวปรัชญาจิตนิยม
ปรัชญาจิตนิยมเน้นในเรื่องของปัญญาและจิตเป็นเป้าหมายสำคัญ ผู้ที่มีความรู้จะต้องเป็นผู้ที่เข้าถึงความจริงที่สมบูรณ์ การศึกษาและวิชาการต่าง ๆ จะต้องช่วยให้มนุษย์สามารถบรรลุถึงความเป็นจริงที่สมบูรณ์ของมนุษย์ ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม ปรัชญาจิตนิยมมีความเชื่อและยึดมั่นในการแสวงหาความรู้ด้วยปัญญาและเหตุผล และให้ความสำคัญต่อเรื่อง
คุณธรรม ดังนั้นเมื่อนำเอาหลักการของปรัชญาจิตนิยมมาใช้ในการพลศึกษา จุดมุ่งหมาย ที่สำคัญของพลศึกษา คือ การเสริมสร้างคนให้เป็นคนที่สมบูรณ์ตามธรรมชาติที่แท้จริง ของมนุษย์ พลาโต กล่าวไว้ว่า การมุ่งฝึกฝนแต่กิจกรรมพลศึกษาแต่เพียงอย่างเดียวโดยละเลยต่อสิ่งอื่นเท่ากับเป็นการสร้างคนเพียงด้านเดียว ขาดการเข้าถึงธรรมชาติที่แท้จริงของมนุษย์ ในทำนองเดียวกัน การมุ่งให้ความสำคัญแต่เรื่องดนตรีอย่างเดียว ก็เท่ากับเป็นการทำให้บุคคลอ่อนไหวเกินกว่าที่จะเข้าถึงความดีที่สมบูรณ์ได้ ดังนั้นความพอดีและความกลมกลืนของพลศึกษากับวิชาอื่น ๆ จะต้องควบคู่กันไป นักพลศึกษาและครูพลศึกษาจะให้ความสำคัญและเน้นความเข้าใจในตัวของมนุษย์โดยส่วนรวมควบคู่กันไปกับการสอนวิชาพื้นฐานทาง พลศึกษาและความชำนาญเฉพาะ นักพลศึกษาที่ดีตามแนวปรัชญาจิตนิยมจะต้องเป็นผู้ที่สามารถเข้าถึงภาวะการกระทำตนเองให้เป็นจริง (Self – realization) หมายความว่า เป็นผู้ที่สามารถใช้ปัญญาเข้าถึงหลักการของความจริงอันเป็นที่สุด เข้าใจตนเอง เข้าใจเจตจำนงของชีวิต เข้าใจจุดมุ่งหมายของการกระทำและประพฤติปฏิบัติตนในสิ่งที่ถูกต้อง ซึ่งสอดคล้องกับความคิดของโสกราตีสที่ว่า ผู้ที่มีความรู้และคุณธรรมย่อมไม่กระทำในสิ่งที่ผิด นอกจากนี้นักพลศึกษาหรือครูพลศึกษาที่ดี จะต้องเข้าใจในวัตถุประสงค์และคุณค่าของพลศึกษาที่ว่า เป็นสิ่งที่ดีมีคุณค่าในตนเอง ยึดมั่นในจรรยาบรรณ มีหลักปรัชญาเป็นของตนเองในการปฏิบัติ การจัดเตรียมหลักสูตรและการสอนต้องคำนึงถึงด้านคุณธรรมควบคู่กันไปกับการฝึกปฏิบัติกิจกรรม จุดมุ่งหมายของการเรียนพลศึกษา คือ การมีความรู้ความสามารถในทางปฏิบัติเพื่อก่อให้เกิดความพร้อมทางร่างกายและจิตใจ มีระเบียบวินัย เข้าถึงคุณค่าที่แท้จริงของการเป็นมนุษย์ รู้จักให้คุณค่าแก่สิ่งต่าง ๆ และสามารถตัดสินปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตด้วยเหตุผล การสอนให้ผู้เรียนได้บรรลุถึงความเป็นตัวของตัวเองอย่างสมบูรณ์เป็นแก่นสาระสำคัญ ของปรัชญาพลศึกษาตามแนวจิตนิยม เรื่องสำคัญที่นักพลศึกษาและครูพลศึกษาจะต้องคำนึงถึง อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเด็ก สำหรับนักศึกษา และสำหรับนักกีฬา การจัดเกมก็ดีหรือการจัดกิจกรรมอื่น ๆ ก็ดี จะมุ่งเน้นด้านการฝึกให้มีความพร้อมทางร่างกาย มีสมรรถภาพในการเคลื่อนไหว ฝึกให้มีการพัฒนาทางปัญญา มีคุณธรรม มีระเบียบวินัย ฉะนั้นความรู้ทางด้านพลศึกษาจะช่วยเสริมสร้างให้มนุษย์ได้เข้าถึงธรรมชาติที่สมบูรณ์ของความเป็นมนุษย์ พลศึกษาเป็นสิ่งที่มีจุดจบในตัวเองไม่ได้เป็นวิถีไปสู่สิ่งอื่น เช่น การสอนให้เล่นกีฬาเพื่อให้เป็นนักกีฬาที่ดี ไม่ใช่เพื่อชื่อเสียงเกียรติยศอย่างอื่น ถ้าจะเกิดสิ่งอื่นตามมา เช่น ความสามารถ ชื่อเสียง และเกียรติ สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงผลพลอยได้ที่เกิดจากการเป็นนักกีฬาที่ดี และผลพลอยได้เหล่านี้ ก็มิใช่เป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ของการเป็นนักกีฬา(อุดร รัตนภักดิ์,2523 : 20 -21)
สรุปหลักการปรัชญาพลศึกษาตามแนวจิตนิยม
อุดร รัตนภักดิ์ (2523 : 21 -22) กล่าวสรุปหลักการปรัชญาพลศึกษาตามแนวจิตนิยม ไว้ดังนี้
ปรัชญาจิตนิยมให้ความสำคัญแก่จิตและปัญญาของมนุษย์เหนือกว่าสิ่งอื่น มนุษย์มี
จิตเป็นส่วนสำคัญในการที่จะสามารถรับรู้ความจริง ร่างกายมีความสำคัญรองมาจากจิตและเป็นสิ่งที่ถูกควบคุมด้วยจิต ดังนั้นคำว่า พลศึกษา จึงไม่ได้มีความหมายเฉพาะเรื่องทางร่างกายแต่เพียงอย่างเดียว ความหมายของพลศึกษาที่แท้จริงจะต้องหมายถึงการพัฒนาทางร่างกายควบคู่กันไปกับการพัฒนาจิตใจ คือ พัฒนาปัญญาและเหตุผลของบุคคลด้วยการฝึกกิจกรรม พลศึกษาต้องคำนึงถึงหลักการข้อนี้ ในการฝึกหัดเล่นกีฬา ครูผู้ฝึกจะต้องอธิบายวิธีการเล่นและเทคนิคต่าง ๆ ให้ผู้เรียนเข้าใจและเกิดทักษะ ส่วนในขณะที่ผู้เรียนปฏิบัติจริงหรือลงเล่นจริง วิธีการต่าง ๆ ย่อมขึ้นอยู่กับความคิด การตัดสินใจของผู้เล่นเอง กิจกรรมพลศึกษาที่เลือกมาปฏิบัติจะต้องมีลักษณะที่เปิดโอกาสให้ผู้เล่นแต่ละคนได้ใช้ความคิด ปัญญาและการตัดสินใจด้วยตนเองมากกว่าการเล่นกิจกรรมที่มีผู้ฝึกหรือครูเป็นผู้วางแผนและกำหนดวิธีการเล่นทั้งหมด ถ้าเป็นไปได้บทบาทของครูผู้ฝึกควรลดน้อยลงในขณะที่มีกิจกรรมพลศึกษา
ปรัชญาจิตนิยมถือว่าตัวของมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญและมีค่าเหนือกว่าสิ่งอื่นใด จะนำเอา
มนุษย์ไปเป็นวิถีหรือเครื่องมือทดลองนำไปสู่สิ่งใดมิได้ ภาพลักษณ์ของมนุษย์ที่สมบูรณ์ประกอบด้วยความพร้อม ความแข็งแรงทางร่างกายและความสมบูรณ์ทางจิตใจ รวมทั้ง ความปราดเปรื่องทางปัญญา ดังนั้นกิจกรรมพลศึกษาคือสิ่งที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรง ความพร้อมทางร่างกาย ช่วยพัฒนาบุคลิกภาพ ขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างให้มนุษย์รู้จักชีวิต รู้ว่าอะไรคือเจตจำนงของชีวิต มีหลักในการเลือกนำกิจกรรมพลศึกษามาปฏิบัติ เพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปเพื่อเจตจำนงของชีวิต
3. ปรัชญาจิตนิยมมีหลักการที่สำคัญอยู่ที่ความสำคัญของจิตและปัญญา ความปราดเปรื่อง
ทางปัญญา ความสามารถของจิตคือสิ่งที่ช่วยให้มนุษย์เข้าถึงความดี ค่าของมนุษย์อยู่ที่คุณธรรม กิจกรรมพลศึกษาทุกชนิดจะมุ่งพัฒนาตัวผู้เรียนในเรื่องของความซื่อตรง ความกล้าตัดสินใจ ความสร้างสรรค์ และความเป็นผู้มีน้ำใจเป็นนักกีฬา จุดมุ่งหมายประการที่สำคัญของพลศึกษา คือ การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ดังนั้นครูผู้สอนพลศึกษาจะต้องช่วยให้ผู้เรียนได้รู้ว่าอะไรคือ ความจริง ช่วยปรับปรุงด้านจริยธรรม มีหลักเกณฑ์การประพฤติอย่างเหมาะสม การช่วยกันกำหนดข้อตกลง ระเบียบวินัยและกฏเกณฑ์ต่าง ๆ ในการเล่นกิจกรรมพลศึกษาคือสิ่งที่สำคัญ และเมื่อมีกฏเกณฑ์ต่าง ๆ แล้วจะต้องฝึกปฏิบัติตามกฏเกณฑ์เหล่านั้นอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดความเคยชิน
ผู้เป็นปราชญ์หรือผู้รู้ตามแนวของปรัชญาจิตนิยม คือ ผู้ที่สามารถเข้าถึงความจริง
อันเป็นที่สุด มีความรู้ มีคุณธรรม สามารถดำรงตนเป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่น ด้วยเหตุนี้ครูผู้สอนหรือผู้ฝึกนักกีฬาจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดี มีสุขภาพที่สมบูรณ์ มีคุณธรรม สามารถแนะแนวทางให้ผู้เรียนไปสู่ความสำเร็จของการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้
5. ปรัชญาจิตนิยมให้ความสำคัญแก่สิ่งที่มีค่าในตัวเองมากกว่าสิ่งที่มีค่านอกตัวเอง
ดังนั้นประสิทธิภาพของการเรียนการสอนจึงเป็นเป้าหมายที่สำคัญ การวางโปรแกรมพลศึกษาก็ดี การเลือกนำกิจกรรมพลศึกษามาสอนก็ดี ตลอดจนวิธีการสอนจะต้องเป็นไปอย่างมีหลักการและถูกต้อง
6. ปรัชญาจิตนิยมมีหลักการว่า การศึกษาคือกระบวนการแห่งชีวิต ฉะนั้นการปรับปรุง
พัฒนาร่างกาย ความรู้ทักษะทางเกมกีฬามีความสำคัญเท่า ๆ กับการฝึกให้เป็นผู้ที่สามารถรู้จักใช้ความคิดแบบไตร่ตรองด้วยปัญญา นักพลศึกษาที่ดี นักกีฬาที่ดีจะต้องรู้และเข้าใจจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของพลศึกษาว่า คือการเสริมสร้างมนุษย์แต่ละคนให้เป็นคนที่สมบูรณ์ จุดมุ่งหมายอย่างอื่นนอกเหนือจากนี้เป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้นเอง
สรุปได้ว่าปรัชญาพลศึกษาตามแนวทางปรัชญาการศึกษาจิตนิยมนั้น มุ่งจัดกิจกรรมพลศึกษาที่มุ่งพัฒนาตัวผู้เรียนด้านจิตใจ เช่น ความซื่อตรง ความกล้าคิดตัดสินใจ ความเป็นผู้มีน้ำใจนักกีฬา เน้นจริยธรรม เพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
กิจกรรม 4.2.1
จงอธิบายการจัดพลศึกษาตามแนวปรัชญาการศึกษาจิตนิยม
โปรดเขียนคำตอบในแบบฝึกปฏิบัติ กิจกรรม 4.2.1
แนวตอบกิจกรรม 4.2.1
การจัดพลศึกษาตามแนวปรัชญาการศึกษาจิตนิยม เป็นการจัดที่มุ่งพัฒนาตัวผู้เรียนด้านจิตใจ เช่น ความซื่อตรง ความกล้าคิดตัดสินใจ ความเป็นผู้มีน้ำใจนักกีฬา เน้นจริยธรรม เพื่อความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
เรื่องที่ 4.2.2
ปรัชญาพลศึกษาตามแนวปรัชญาการศึกษาสัจจนิยม (Realism)
ปรัชญาการศึกษาสัจจนิยม
ปรัชญาการศึกษาสัจจนิยม มีชื่อเรียกหลายอย่าง เช่น ประจักษ์นิยม สารัตถนิยม เป็นต้น ปรัชญาเมธีแห่งปรัชญานี้ คือ อริสโตเติล (Aristotle) ชาวกรีก เป็นศิษย์ของพลาโต ทัศนะทางปรัชญาของอริสโตเติลแตกต่างไปจากพลาโต กล่าวคือ ในขณะที่พลาโตเห็นว่าความจริงนั้นอยู่ที่การใคร่ครวญหาเหตุผล ซึ่งเป็นเรื่องจิตมากกว่าวัตถุ แต่อริสโตเติลเห็นว่าการใคร่ครวญ หาเหตุผลด้วยจิตใจอย่างเดียวไม่เพียงพอ จะต้องมีการพิจารณาหาข้อเท็จจริง ตามธรรมชาติด้วย ซึ่งเป็นการเริ่มต้นวิธีการทางวิทยาศาสตร์
ทัศนะทางการศึกษาของอริสโตเติล ถือว่าการศึกษาเป็นกระบวนการที่จะช่วยฝึกฝน
ร่างกาย จิตใจ ความคิด และอุปนิสัยของคน เพื่อให้เป็นพลเมืองดี เป็นการเตรียมบุคคลให้รู้จักแสวงหาความสุขด้วยวิธีการที่ถูกต้อง ความมุ่งหมายของการศึกษา คือ การมุ่งให้ทุกคนมี
คุณงามความดีและมีความสุข คุณธรรมและความสุขเป็นอุดมการณ์ของการศึกษาของอริสโตเติล ปรัชญาการศึกษาสัจจนิยม จึงยึดโลกทัศน์ที่เรียกว่า “โลกนี้เป็นโลกแห่งวัตถุ” (A World of Things) ความรู้ ความจริง เป็นภาวะของธรรมชาติ การให้มนุษย์เข้าถึงความจริงแห่งธรรมชาติโดยวิธีวิทยาศาสตร์ จึงเป็นจุดมุ่งหมายของปรัชญาการศึกษาสาขานี้(วิจิตร ศรีสะอ้าน,2533: 251)
แนวทางเกี่ยวกับการจัดการศึกษา
1. การจัดโรงเรียน โรงเรียนตามแนวทางปรัชญาการศึกษาสัจจนิยม จะต้องจัดให้ผู้เรียน
รู้และคุ้นเคยกับสรรพสิ่งธรรมชาติที่มีอยู่ ให้ผู้เรียนได้เข้าถึงความจริงธรรมชาติตามธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยอาศัยกฎธรรมชาติเป็นหลัก
การจัดการหลักสูตร หลักสูตรตามแนวทางปรัชญาการศึกษาสัจจนิยม จะเน้นวิชา
วิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ ทั้งด้านชีวภาพและกายภาพ เช่น ชีววิทยา สัตววิทยา พฤกษศาสตร์ ธรณีวิทยา และดาราศาสตร์ เป็นต้น เครื่องมือที่สำคัญในการศึกษาหาความรู้เน้นศิลปะการคำนวณ (Measurement Arts) เพื่อช่วยให้การวิเคราะห์ธรรมชาติ
การจัดการเรียนการสอน การจัดการเรียนการสอนตามแนวทางปรัชญาการศึกษา
สัจจนิยม เน้นการเรียนจากของจริง สำหรับการสอนใช้วิธีสาธิต การสังเกต การทัศนศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนเข้าถึงสภาพความรู้จริงตามธรรมชาติ ครูเป็นสื่อกลางในการสอนที่จะต้องมีความสามารถในการสาธิต การอธิบาย และการใช้อุปกรณ์เป็นประการสำคัญ
การปลูกฝังค่านิยม การปลูกฝังค่านิยมตามแนวทางปรัชญาการศึกษาสัจจนิยม เน้น
การปลูกฝังให้ปฏิบัติตามกฏธรรมชาติ ให้มีความซาบซึ้งในความงามตามธรรมชาติและ สร้างสรรค์ศิลปกรรมที่สะท้อนภาพธรรมชาติ
พลศึกษาตามแนวปรัชญาสัจจนิยม
ปรัชญาพลศึกษาสัจจนิยมถือหลักความเป็นจริงตามสภาพธรรมชาติที่ปรากฏและเชื่อว่าสภาพแวดล้อมมีอิทธิพลสำคัญต่อชีวิตมนุษย์ พลศึกษาเน้นให้มนุษย์ได้รู้จักสภาพที่แท้จริงของ ร่างกาย การทำงานของระบบกล้ามเนื้อ สภาพความพร้อมทางร่างกาย พลศึกษา คือ กระบวนการที่ช่วยให้มนุษย์ดำเนินชีวิตไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ชีวิตมนุษย์ไม่ควรมุ่งที่จะไปสู่เป้าหมายโดยละเลยต่อสภาพของร่างกาย การรักษาสุขภาพทั้งทางร่ายกายและจิตใจให้สมบูรณ์ มีอารมณ์มั่นคง มีบุคลิกภาพที่ดี ย่อมเป็นปัจจัยช่วยในการพัฒนาการของมนุษย์ นอกจากนี้พลศึกษายังเป็นส่วนช่วยให้ผู้เรียนมีโอกาสได้บรรลุเป้าหมายโดยส่วนรวมของการศึกษาโดยใช้กิจกรรม การเคลื่อนไหวเป็นสื่อ พลศึกษามิใช้เป็นเพียงการออกกำลังกายหรือการเล่นกีฬาเป็นบางชั่วโมงเท่านั้น แต่พลศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการศึกษาและของชีวิตมนุษย์ไปตลอดชีวิต
หลักการปรัชญาพลศึกษาตามแนวปรัชญาสัจจนิยม
อุดร รัตนภักดิ์ (2523 : 26 – 27) กล่าวถึงหลักการปรัชญาพลศึกษาตามแนวปรัชญาการศึกษาสัจจนิยม ไว้ดังนี้
1. ปรัชญาสัจจนิยมมีความเชื่อว่า การศึกษาคือกระบวนการเพื่อชีวิต และชีวิตของ
มนุษย์คือความเป็นจริง โลกทางกายภาพที่มนุษย์รับรู้ด้วยผัสสะ คือความเป็นจริง การศึกษาช่วยให้มนุษย์ได้รู้จักความเป็นจริงเหล่านี้ ฉะนั้นการศึกษาก็คือชีวิต พลศึกษาเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่สำคัญของกระบวนการศึกษา พลศึกษาช่วยให้ผู้เรียนมีความพร้อมและเรียนรู้ที่จะปรับตน ให้สอดคล้องกับโลกแห่งความเป็นจริงที่ตนอาศัยอยู่ กิจกรรมต่าง ๆ ทางพลศึกษา เป็นวิถีที่ช่วยให้ผู้เรียนเรียนรู้การปรับตัว และมีพฤติกรรมที่ปรากฏออกมาอย่างกลมกลืน ในการเรียนและการฝึกกิจกรรมพลศึกษา ผู้เรียนจะต้องได้รับการสอนวิธีการเล่นอย่างถูกต้อง ฝึกหัดให้มีความสามารถ ความชำนาญ ขณะเดียวกันจะต้องยึดหลักการเล่นอย่างสุจริต มีน้ำใจเป็น นักกีฬา
2. ตามความเชื่อของปรัชญาสัจจนิยม ร่างกายของมนุษย์คือความเป็นจริงอย่างหนึ่ง ที่ปรากฏในโลกกายภาพ จึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในตัวเอง ( instrinsic value ) ผู้ที่มีความพร้อมทางร่างกายย่อมเป็นผู้ที่เข้าถึงธรรมชาติที่แท้จริงของมนุษย์ เป็นบุคคลที่มีความพร้อมสำหรับ การดำเนินชีวิต มีความคล่องตัวอยู่ทุกขณะ ฉะนั้นกิจกรรมทางพลศึกษาจะเป็นส่วนช่วยส่งเสริมภาวะของมนุษย์ดังกล่าวนี้ให้เกิดขึ้นกับเด็ก
3. ปรัชญาสัจจนิยม มีแนวคิดไปในทางวิทยาศาสตร์ ดังนั้น การจัดโปรแกรมทาง
พลศึกษาจึงมีพื้นฐานอยู่บนความรู้ในแนววิทยาศาสตร์ การศึกษาวิชาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการ เคลื่อนไหวและกับที่เกี่ยวกับร่างกาย เช่น กายวิภาค สรีรวิทยา วิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหว เป็นวิชาที่ทำให้ผู้เรียนได้รู้จักสภาพร่างกายของมนุษย์ การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ครูหรือตัวผู้เรียนไม่อาจที่จะปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าหากขาดความรู้เกี่ยวกับร่างกายของมนุษย์ การทำงานของอวัยวะและหลักการเคลื่อนไหวในแนวของวิทยาศาสตร์
4 นอกจากตัวมนุษย์แล้ว ปรัชญาสัจจนิยมเชื่อว่าสิ่งทั้งหลายที่ปรากฎอยู่นอกตัว ก็คือ
ความเป็นจริงด้วย หมายความว่า นอกจากตัวเราแล้ว ผู้อื่นหรือสังคมภายนอกเป็นส่วนที่มีความเป็นจริงด้วย ดังนั้นการรู้จักเข้าสังคม การทำงานร่วมกับผู้อื่นจึงมีความสำคัญ กิจกรรมพลศึกษา เช่น การแข่งขันกีฬาระหว่างโรงเรียนหรือระหว่างกลุ่ม ช่วยทำให้ผู้เรียน เรียนรู้พฤติกรรมทางสังคมที่เหมาะสม เป็นการฝึกให้ผู้เรียนมีน้ำใจเป็นนักกีฬา อดทน และซื่อตรง รู้จักแพ้ รู้จักชนะ รู้จักการให้อภัย ไม่ใช่มุ่งแต่จะเอาชนะอย่างเดียว
5. ปรัชญาสัจจนิยมมีหลักการว่า ความรู้ภาคทฤษฎีจะต้องสอดคล้องกับความเป็นจริง
และความรู้ของมนุษย์มีหลายระดับ ดังนั้นการฝึกปฏิบัติแต่ละขั้นตอนเป็นสิ่งสำคัญของกระบวนการเรียนรู้การสอนกิจกรรมพลศึกษาแต่ละประเภท จะต้องเริ่มสอนจากขั้นพื้นฐาน ทีละขั้น ฝึกปฏิบัติเป็นขั้นตอนจนไปสู่การลงมือปฏิบัติหรือการเล่นจริง ๆ และต้องคำนึงถึงความแตกต่างของความสามารถของผู้เรียนแต่ละคนด้วย
6. การเล่นและการนันทนาการ เป็นสิ่งที่ช่วยให้มนุษย์เรียนรู้การปรับตัว ปรัชญา
พลศึกษาแนวสัจจนิยมเชื่อว่าผู้ที่รู้จักเล่นและการเข้าร่วมกิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ จะเป็น ผู้ปฏิบัติหน้าที่ได้ดีในสังคม เพราะกิจกรรมต่าง ๆ ที่ตนได้เข้าร่วมนั้นสอนให้ผู้เรียนแต่ละคนได้สัมผัสกับสภาพความเป็นจริงของชีวิตของโลกแห่งความเป็นจริงที่ตนจะต้องเป็นสมาชิกอยู่ ภายหลังจากสำเร็จการศึกษาออกไปแล้ว
จึงเห็นได้ว่า แนวการจัดพลศึกษาตามแนวปรัชญาการศึกษาสัจจนิยมนั้น มีพื้นฐานอยู่บนความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับร่างกายของมนุษย์ การสอนกิจกรรมพลศึกษาต้องเริ่มจากพื้นฐานทีละขั้นจนถึงลงมือปฏิบัติหรือการเล่นจริง กิจกรรมต้องฝึกให้ผู้เล่นมีน้ำใจนักกีฬา อดทน รู้แพ้รู้ชนะ รู้อภัย ไม่ใช่มุ่งแต่จะเอาชนะอย่างเดียวและที่สำคัญกิจกรรมต้องช่วยในการปรับตัวให้อยู่ได้ดีในสังคม
กิจกรรม 4.2.2
จงอธิบายการจัดพลศึกษาตามแนวปรัชญาการศึกษาสัจจนิยม
โปรดเขียนคำตอบในแบบฝึกปฏิบัติ กิจกรรม 4.2.2
แนวตอบกิจกรรม 4.2.2
การจัดพลศึกษาตามแนวปรัชญาการศึกษาสัจจนิยมนั้น มีพื้นฐานอยู่บนความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับร่างกายของมนุษย์ การสอนกิจกรรมพลศึกษาต้องเริ่มจากพื้นฐานทีละขั้นจนถึงลงมือปฏิบัติหรือการเล่นจริง กิจกรรมต้องฝึกให้ผู้เล่นมีน้ำใจนักกีฬา อดทน รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ไม่ใช่มุ่งแต่จะเอาชนะอย่างเดียวและที่สำคัญกิจกรรมต้องช่วยในการปรับตัวให้อยู่ได้ดี ในสังคม
เรื่องที่ 4.2.3
ปรัชญาพลศึกษาตามแนวปรัชญาการศึกษาประสบการณ์นิยม (Pragmatism)
ปรัชญาการศึกษาประสบการณ์นิยม
ปรัชญาการศึกษาประสบการณ์นิยม มีชื่อเรียกหลายวิธี เช่น ปฏิบัตินิยม อุปกรณ์นิยมและทดลองนิยม เป็นต้น ปรัชญาการศึกษาที่เกิดขึ้นจากแนวคิดของชาร์ล เพียส (Charles Peirce) ซึ่งเป็นผู้ให้แนวคิดของวิธีการหาความรู้ ต่อมาวิลเลี่ยม เจมส์ (William James) และจอห์น ดิวอี้ (John Dewey) ได้นำเอาหลักการของชาร์ล เพียส มาพัฒนาขึ้นเป็นปรัชญาการศึกษาสาขานี้กำเนิดในสหรัฐอเมริกา นับเป็นปรัชญาพื้นฐานของการศึกษาแผนใหม่ทั้งในอเมริกาและประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก (เมธี ปิลันธนานนท์,2523 : 47)
ทัศนะทางการศึกษาของจอห์น ดิวอี้ ถือว่ามนุษย์ได้รับจากสิ่งต่าง ๆ จากประสบการณ์เท่านั้น การเรียนที่จะก่อให้เกิดประสบการณ์ต้องใช้วิธีการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ โดยผู้เรียนจะต้องทำกิจกรรมควบคู่ไปกับการเรียนด้วย ปรัชญานี้จึงยึดโลกทัศน์ที่ว่า “โลกนี้เป็นโลกแห่งประสบการณ์” (A World of Experience) ประสบการณ์จึงเป็นบ่อเกิดแห่งความรู้ ความจริงการมุ่งให้มนุษย์เข้าถึงความจริง โดยวิธีแห่งประสบการณ์และปัญญา จึงเป็นจุดมุ่งหมายของปรัชญาการศึกษานี้
สาเหตุแห่งการเกิดปรัชญาการศึกษาประสบการณ์นิยม
ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ทำให้เกิดแนวคิดใหม่แบบวิทยาศาสตร์เป็น
การหักล้างแนวคิดเดิมที่แยกความคิดกับการกระทำออกจากกัน
2. การค้นพบทฤษฎีวิวัฒนาการของ ชาร์ล ดาร์วิน (Charles Darwin’s Theory of Evolution) เป็นการชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่แท้ถาวรนั้นไม่มี แต่จะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและสภาพแวดล้อม
3. การแผ่ขยายของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ทำให้เห็นความสำคัญของบุคคลและคุณค่าของบุคคลมากขึ้น
4. การขยายตัวอย่างรวดเร็วทางด้านอุตสาหกรรม ทำให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ควบคู่กันไปด้วย
แนวทางเกี่ยวกับการจัดการศึกษา
1. การจัดโรงเรียน โรงเรียนตามแนวทางปรัชญาการศึกษาประสบการณ์นิยม จะต้องจัดสิ่งแวดล้อม เสมือนเป็นสังคมย่อมที่จำลองจากสังคมใหญ่ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดประสบการณ์อย่างต่อเนื่อง และไม่แตกต่างไปจากชีวิตจริง
2. การจัดหลักสูตร หลักสูตรตามแนวทางปรัชญาการศึกษาประสบการณ์นิยม เน้นวิชาที่เสริมสร้างประสบการณ์ของสังคม เน้นกระบวนการในการศึกษาหาความรู้มากกว่าเนื้อหาสาระหลักสูตรจะต้องจัดมวลประสบการณ์ให้ผู้เรียนมีโอกาสทำกิจกรรม กลุ่มวิชาที่ต้องบรรจุไว้ในหลักสูตร คือ สังคมศึกษา เป็นต้น
3. การจัดการเรียนการสอน การจัดการเรียนการสอนตามแนวทางปรัชญาการศึกษาประสบการณ์นิยม ยึดหลักผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ใช้วิธีการแก้ปัญหาและการทดลองค้นคว้า โดยให้ทำกิจกรรมเป็นหลัก ครูเป็นผู้ช่วยให้ผู้เรียนดำเนินกิจกรรมและศึกษาค้นคว้าหาคำตอบด้วยตนเอง
การปลูกฝังค่านิยม การปลูกฝังค่านิยมตามแนวปรัชญาการศึกษาประสบการณ์นิยม
ปลูกฝังให้ผู้เรียนรู้จักตัดสินใจ และยึดถือความคิดเห็นของคนส่วนรวมเป็นหลัก โดยคำนึงถึง
ผลในทางปฏิบัติที่จะมีต่อส่วนรวม
พลศึกษาตามแนวปรัชญาประสบการณ์นิยม
ปรัชญาพลศึกษาแนวประสบการณ์นิยม ยึดถือหลักการเรียนโดยการปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเอาหลักการปรัชญาประสบการณ์นิยม มาใช้ในทางพลศึกษาแล้วจะเน้นในเรื่องของการวัดและประเมินผลเช่นเดียวกับปรัชญาสัจจนิยม ครูผู้ฝึกจะเลือกกีฬา ผู้มีความสามารถโดยดูจากการปฏิบัติ โรเจอร์ เบิกร์ กล่าวว่า ประสบการณ์หรือหลักเกณฑ์ที่สำคัญเป็นบ่อเกิดของความจริงและความเป็นจริง ประสบการณ์ที่แท้จริงของคนเราจะเกิดขึ้นได้ด้วยกระบวนการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายในร่างกายของคนเรา การรู้จักปรับตัว รู้จักใช้ความคิดเข้ามาช่วยพิจารณาแก้ปัญหา ฉะนั้นการสอนพลศึกษาตามแนวประสบการณ์นิยม จึงมุ่งให้ผู้เรียนมีโอกาสเรียนกิจกรรมหลาย ๆ ประเภท และเลือกกิจกรรมที่ตนสนใจและเหมาะกับตนเองมากที่สุด ในกระบวนการเรียนการสอนนอกจากการฝึกฝนกิจกรรมพลศึกษาแล้ว การเรียนรู้ชีวิตในสังคม การรู้จักปรับตัว การร่วมมือประสานงานกับผู้อื่น การเรียนรู้หลักการดำรงชีวิตตามรูปแบบประชาธิปไตยเป็นส่วนประกอบที่สำคัญควบคู่กันไป กิจกรรมต่าง ๆ ที่ท้าทายการปฏิบัติร่วมกันเป็นกลุ่ม การร่วมกันพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นขณะแข่งขัน ถือเป็นโอกาสอันสำคัญที่จะช่วยให้แต่ละคนได้ใช้พลังความสามารถของตนเอง(อุดร รัตนภักดิ์, 2523 : 41 – 42 )
สรุปหลักปรัชญาพลศึกษาตามแนวประสบการณ์นิยม
กิจกรรมต่าง ๆ ทางพลศึกษาช่วยเพิ่มพูนประสบการณ์ที่มีประโยชน์แก่ชีวิตมนุษย์
นักพลศึกษาประสบการณ์นิยม ให้ความสำคัญแก่กิจกรรมต่าง ๆ ทางพลศึกษาในแง่ที่จะช่วยส่งเสริมทักษะการเรียนรู้วิธีแก้ปัญหาด้วยตนเองของผู้เรียน เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ทดลองปฎิบัติหน้าที่ในสังคมอย่างมีประสิทธิผล กิจกรรมประเภทต่าง ๆ เช่น การอยู่ค่ายพักแรม กิจกรรมนอกเมืองรวมทั้งกีฬาประเภทอื่น ๆ ล้วนแต่มีคุณค่าอย่างยิ่ง ผู้เรียนมีโอกาสเรียนรู้โดยการปฏิบัติเท่านั้น แต่ยังมีโอกาสฝึกฝนการรู้จักควบคุมตนเอง การทำตนเป็นผู้มีวินัย ตลอดจนการเรียนรู้ถึงการร่วมมือประสานงานกับผู้อื่น
2. กิจกรรมต่าง ๆ เป็นสิ่งที่เรียนรู้จากธรรมชาติ วิธีการสำคัญประการหนึ่งของปรัชญาประสบการณ์นิยม คือการผสมผสานตัวเด็กเข้ากับสังคม กิจกรรมใด ๆ ที่มีคุณค่าทางสังคม ถือเป็นกิจกรรมที่สำคัญและเป็นที่ยอมรับ การเล่นเกม เล่นกีฬาต่าง ๆ คือสิ่งที่มีประโยชน์และมีคุณค่าตามความคิดของปรัชญาประสบการณ์นิยม การศึกษาคือชีวิต ดังนั้นเกมกีฬาที่ก่อให้เกิดการพัฒนาทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม จิตใจ และมีความสัมพันธ์กับผู้อื่น คือสิ่งที่บุคคลควรจะได้เรียนรู้
การกำหนดหลักสูตร จะต้องตรงต่อความต้องการและความสนใจของผู้เรียน
การเรียนรู้ที่ประสบความสำเร็จตามหลักสูตรประสบการณ์นิยม ดูจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้น และเป็นประโยชน์แก่ผู้เรียน ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นจากความพึงพอใจของผู้เรียนด้วย กิจกรรมที่มีลักษณะท้าทายและสร้างสรรค์เป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้เรียนที่จะเลือก ด้วยเหตุนี้ เกม กีฬาต่าง ๆ และกิจกรรมนันทนาการจึงรวมอยู่ในหลักสูตร เพราะจะช่วยตอบสนองต่อความต้องการและความสนใจของผู้เรียนแต่ละคน
4. การเรียนจะประสบผลสำเร็จได้ด้วยวิธีการแก้ปัญหา นักพลศึกษาตามแนวประสบการณ์นิยม มีความเชื่อมั่นว่าวิธีการทางวิทยาศาสตร์และวิธีการแก้ปัญหา ช่วยทำให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างมีวัตถุประสงค์
5. ครูผู้ฝึกและครูผู้สอนมีฐานะเป็นผู้สร้างพลังจูงใจแก่ผู้เรียน และจะต้องกระตุ้นให้ ผู้เรียนเข้าร่วมในกิจกรรมที่มีประโยชน์สำหรับตน จะต้องช่วยแนะนำให้ผู้เรียนรู้จักเลือกกิจกรรมได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับตนเอง แต่ไม่ใช่โดยการกำหนดหรือออกคำสั่ง ผู้เรียนเป็นผู้ตัดสินใจเอง มีโอกาสเป็นผู้นำกลุ่มของตนเอง มีการพลัดเปลี่ยนกันเป็นผู้นำกลุ่ม
6. การกำหนดมาตรฐานไม่ใช่ส่วนสำคัญของโปรแกรม การกำหนดมาตรฐานที่แน่นอนไว้จะทำให้โปรแกรมต่าง ๆ ออกมาในแนวทางเดียวกันหมด แม้ว่าปรัชญาพลศึกษา ตามแนวที่จะถือว่าการวัดและประเมินผลเป็นส่วนประกอบที่สำคัญก็จริงอยู่ แต่นักปรัชญาพลศึกษาไม่สนใจที่จะวัดผลดูความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อมากไปกว่าการประเมินผลดูว่าผู้เรียนสามารถเผชิญกับความจริงที่เกิดขึ้นในการปฎิบัติอย่างไร
ดังนั้นพลศึกษาตามแนวปรัชญาการศึกษาประสบการณ์นิยมนั้น มุ่งให้ผู้เรียนมีโอกาสเรียนกิจกรรมหลาย ๆประเภทและเลือกกิจกรรมที่ตนสนใจและเหมาะกับตนเองมากที่สุด เน้นการเรียนรู้ชีวิตในสังคมตามสภาพจริงเพื่อการปรับตัวตลอดเวลา กล่าวได้ว่า การศึกษาคือชีวิต ครูผู้สอนพลศึกษามีหน้าที่ช่วยแนะนำ
กิจกรรม 4.2.3
จงอธิบายการจัดพลศึกษาตามแนวปรัชญาการศึกษาประสบการณ์นิยม
โปรดเขียนคำตอบในแบบฝึกปฏิบัติ กิจกรรม 4.2.3
แนวตอบกิจกรรม 4.2.3
การจัดพลศึกษาตามแนวปรัชญาการศึกษาประสบการณ์นิยมนั้น มุ่งให้ผู้เรียนมีโอกาสเรียนกิจกรรมหลาย ๆประเภทและเลือกกิจกรรมที่ตนสนใจและเหมาะกับตนเองมากที่สุด เน้นการเรียนรู้ชีวิตในสังคมตามสภาพจริงเพื่อการปรับตัวตลอดเวลา กล่าวได้ว่า การศึกษาคือชีวิต ครูผู้สอนพลศึกษามีหน้าที่ช่วยแนะนำ
เรื่องที่ 4.2.4
ปรัชญาพลศึกษาตามแนวปรัชญาการศึกษาอัตถิภาวนิยม (Existentialism)
ปรัชญาการศึกษาอัตถิภาวนิยม
ปรัชญาการศึกษาอัตถิภาวนิยม เป็นปรัชญาน้องใหม่แพร่หลายในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ปรัชญาเมธีของปรัชญานี้ คือ โซเลนซ์ คีร์เคกอร์ด (Soren Kierkegaard) ชาวเดนมาร์ก จุดเน้นที่สำคัญของปรัชญาสาขานี้ คือ เสรีภาพของปัจเจกบุคคล และการใช้เสรีภาพในการดำเนินชีวิต เน้นเอกัตบุคคลมากกว่าสังคมส่วนรวม ปรัชญานี้ยึดโลกทัศน์ที่ว่า “โลกนี้เป็นโลกแห่งเสรีภาพ” มนุษย์มีเสรีภาพในการเลือกและการกำหนดความจริง
แนวทางเกี่ยวกับการจัดการศึกษา
การจัดโรงเรียน โรงเรียนตามแนวทางปรัชญาการศึกษาอัตถิภาวนิยมไม่ยึดรูปแบบ
ที่แน่นอน โรงเรียนต้องจัดสิ่งแวดล้อมหลาย ๆ แบบ เพื่อให้ผู้เรียนเลือกตามเสรีภาพ ของแต่บุคคล
การจัดหลักสูตร หลักสูตรตามแนวทางปรัชญาการศึกษาอัตถิภาวนิยม ไม่กำหนด
ตายตัว มีวิชาเลือกให้เลือกกว้างขวางเพื่อส่งเสริมเสรีภาพ หลักสูตรส่วนใหญ่เน้นวิชาศิลปะและปรัชญา ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงออกอย่างเสรีภาพ
3. การจัดการเรียนการสอน การเรียนการสอนตามแนวทางปรัชญาการศึกษา อัตถิภาวนิยมจะฝึกให้ผู้เรียนรู้จักเลือกวิชาที่เรียนอย่างมีความรับผิดชอบ ครูจะเป็นผู้กระตุ้นให้นักเรียนแต่ละคนใช้เสรีภาพในการเลือกเรียนอย่างถูกต้องและเหมาะสม การจัดการเรียนการสอนนิยมจัดหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับความถนัดและความสนใจของผู้เรียนเป็นหลัก
การปลูกฝังค่านิยม การปลูกฝังค่านิยมตามแนวทางปรัชญาการศึกษาอัตถิภาวนิยม
เน้นการฝึกให้ผู้เรียนมีความสำนึกในเสรีภาพ รู้จักเลือกจริยธรรมอย่างมีความรับผิดชอบ ฝึกฝน
ให้สร้างงานศิลปะตามแนวคิดของตนเองอย่างมีเสรีภาพ โดยไม่ต้องยึดถือจารีตและสังคม
พลศึกษาตามแนวปรัชญาอัตถิภาวนิยม
ความเป็นตัวของตัวเองอย่างอิสระ การเลือก ความรับผิดชอบเป็นสาระสำคัญของปรัชญาอัตถิภาวนิยม ปัญหาเกิดขึ้นว่า เมื่อบุคคลแต่ละคนมุ่งเน้นความเป็นอิสระของตัวเองแล้ว ข้อกำหนดหรือกฏเกณฑ์ใด ๆ ที่มีลักษณะสากลสำหรับทุกคน ย่อมจะมีขึ้นไม่ได้ เพราะทุกคนต่างก็มีความเป็นตัวของตัวเอง มีเสรีภาพที่จะเลือกและตัดสินใจเองทั้งสิ้น ปัญหาประการนี้ ทำให้เกิดความคิดขึ้นในกลุ่มของปรัชญาอัตถิภาวนิยมเอง นักปรัชญาอัตถิภาวนิยมแต่ละคนถือว่าตนมีความเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่ มีความคิดของตนที่อิสระ ไม่จำเป็นว่า ต้องเหมือนกับของผู้ใด จอร์ด คเนลเลอร์ กล่าวถึงข้อดีข้อเสียของปรัชญาอัตถิภาวนิยมไว้ ดังนี้
ข้อดี
1. บุคคลแต่ละคนต้องการมีหลักการของตนเอง เมื่ออยู่ในกลุ่มชนมีความเป็นตัว ของตัวเอง มีเหตุผลและหลักการที่จะไม่ยอมถูกชักจูงอย่างง่าย ๆ กล้าที่จะออกความคิดเห็นสนับสนุนหรือคัดค้านในสิ่งที่ตนไม่เห็นด้วยอย่างมีหลักการและด้วยวิธีการที่เหมาะสม
2. บุคคลแต่ละคนมีภาวะที่จะต้องดำรงอยู่ ต่อสู้ชีวิต และมีความรับผิดชอบ เป็นหลักการที่ให้คุณประโยชน์แก่ชีวิต
3. ค่านิยมที่ให้คุณค่าแก่บุคลิกภาพ ความเป็นตัวของตัวเอง ดำเนินชีวิตตามแบบที่ตนพอใจและเลือกเป็นในสิ่งที่ตนสามารถจะเป็นได้ คือ สิ่งที่ทุกคนควรจะมี คนเราควรมีเสรีภาพที่จะเลือกดำเนินชีวิตและกำหนดแนวทางชีวิตตามที่ตนปรารถนาตามความสามารถ
4. ในสมัยปัจจุบันซึ่งเป็นระยะเวลาของความพยายามที่จะเข้าใจในลักษณะส่วนรวม
ทุกด้าน หลักการใด ๆ ที่มุ่งพัฒนาบุคคลในด้านอารมณ์ ความคิดสร้างสรรค์และสภาพการดำรงอยู่ของชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพถือเป็นสิ่งสำคัญ ปรัชญาอัตถิภาวนิยมเน้นทางด้านจิตใจของบุคคลด้วย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญประการหนึ่งของกระบวนการศึกษา
5. ปรัชญาอัตถิภาวนิยมมุ่งทบทวนและพิจารณาแนวความคิดโครงสร้าง ตลอดจน
วิธีการต่าง ๆ ทางการศึกษาที่นิยมใช้กันอยู่ โดยถือหลักว่า อารมณ์และความรู้สึกของบุคคลแต่ละคนเป็นสิ่งที่ช่วยให้เข้าใจธรรมชาติและจุดมุ่งหมายของมนุษย์ได้ ในขณะที่วิธีการอื่น ๆ ทางวิชาการอาจไม่ได้ผล จึงไม่ควรละเลยต่ออารมณ์และความรู้สึกของแต่ละบุคคล
ข้อเสีย
ในสภาพที่สังคมรักเสรีภาพและความเป็นอิสระส่วนตัวของบุคคลเหนือสิ่งอื่น ทำให้
สภาพสังคมเงียบเหงา ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและระหว่างกลุ่มลดน้อยลง การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การร่วมมือกันทางความคิดเป็นไปได้ยาก มีผู้กล่าวว่าสังคมของผู้ที่ยึดถือตามแนวความคิดของปรัชญาอัตถิภาวนิยม เป็นลักษณะของสังคมที่เงียบเหงา ต่างคนต่างอยู่
ปรัชญาอัตถิภาวนิยมปฏิเสธวิธีการทางวิทยาศาสตร์ โดยถือว่าวิทยาศาสตร์ลดทอน
คุณค่าความเป็นมนุษย์ลงไปสู่การเป็นวัตถุ ทำลายธาตุแท้และเกียรติคุณของความเป็นมนุษย์ ความเชื่อประการนี้ของปรัชญาอัตถิภาวนิยมขัดต่อสภาพความเป็นจริง เพราะในปัจจุบันนี้ มนุษย์เราไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า ผลจากการค้นพบและทดลองทางวิทยาศาสตร์ เป็นประโยชน์และช่วยปรับปรุงสภาพการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างมหาศาล
3. การยึดมั่นถือมั่นในหลักการของปรัชญาอัตถิภาวนิยม ทำให้เกิดความเป็นเอกภาพ ในสังคมมนุษย์ ไม่มีความสัมพันธ์ภายในกลุ่มซึ่งมีผลกระทบต่อความมั่นคงในด้านการเมือง การเป็นตัวของตัวเองอย่างเป็นอิสระ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับผู้อื่น ย่อมไม่อยู่ในภาวะที่จะปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์ให้ดีขึ้นได้ในสภาพของส่วนรวม
การกระทำของมนุษย์ พฤติกรรมของมนุษย์ ควรจะเป็นสิ่งที่กำหนดหรือเกิดขึ้นจาก
ความสัมพันธ์ของบุคคลกับโลกแห่งความเป็นจริงรอบตัวเรา การอยู่โดยปราศจากระบบของคุณค่าที่จะยึดถือ ย่อมเกิดความสับสนวุ่นวาย มนุษย์เราควรกระทำและพิจารณาผล ของการกระทำของเราโดยมีข้อกำหนดทางสังคมเป็นพื้นฐานเพื่อความก้าวหน้าของสังคม
การนำเอาปรัชญาอัตถิภาวนิยมมาใช้ในพลศึกษา จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องคำนึงถึงข้อดี
และข้อเสียทั้งสองด้าน และเลือกนำเอามาใช้ในส่วนที่เป็นประโยชน์ เอลวูด เดวิส (Elwood Davis) กล่าวถึงการนำแนวความคิดของปรัชญาอัตถิภาวนิยมมาใช้ในพลศึกษา ได้ว่า ความเป็นไปได้ที่จะนำเอาปรัชญาอัตถิภาวนิยมมาใช้ในพลศึกษา คือ การฝึกให้บุคคลมีความรับผิดชอบ ซึ่งประสบการณ์ทางพลศึกษาเป็นไปเพื่อสร้างเสริมความรู้สึกรับผิดชอบ แก่บุคคลอยู่แล้ว การฝึกให้ผู้เรียนมีบุคลิกภาพที่ดีเป็นตัวของตัวเอง เป็นสิ่งที่ตรงต่อวัตถุประสงค์ทางพลศึกษา ผู้เรียนแต่ละคนจะเกิดความรู้สึกรับผิดชอบต่อกฏเกณฑ์ กติกา ข้อบังคับใด ๆ ได้ก็โดยที่ตนเองเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ เดวิส ได้อธิบายอีกว่า การที่จะช่วยพัฒนาความเป็นตัวของตัวเองและส่งเสริมเสรีภาพส่วนบุคคลของผู้เรียน อาจทำได้หลายวิธี เช่น เปิดโอกาสให้ผู้เรียนสร้างระบบค่านิยมของตนเอง เลือกและฝึกฝนในกิจกรรม ที่ตนเองสนใจ และมีสิทธิที่จะสร้างความเจริญก้าวหน้าให้เกิดแก่ชีวิตของตนเองตามที่ ตนปรารถนา
ฮาโรลด์ แวนเดอร์ ซแวค (Harold Vander Swagg) กล่าวว่า “กีฬาเพื่อกีฬา” (sport for
sport’sake) จัดได้ว่า เป็นแนวความคิดของปรัชญาอัตถิภาวนิยม เพราะเหตุว่าเมื่อบุคคลแต่ละคนตัดสินใจเลือกเล่นกีฬาตามความสนใจของตนเอง ถือว่าไม่มีคุณค่าอะไรอื่น นอกจากคุณค่าของกีฬาเอง เลือกเล่นเพราะพอใจจะเล่น ไม่ได้เล่นเพราะหวังคุณค่าอย่างอื่น แต่ขณะเดียวกัน ซแวค (Swagg) กล่าวว่า ค่านิยมในความเป็นตัวของตัวเองอย่างอิสระเต็มที่ ตามหลักของปรัชญาอัตถิภาวนิยมจะต้องปรับปรุงเมื่อนำมาใช้ในพลศึกษา ขณะที่บุคคล แต่ละคนเข้าร่วมเล่นเกมหรือกีฬาใด ๆ ก็ตามแต่ละคนจะมีบทบาทเพิ่มขึ้นในการเล่น ความเป็นอิสระส่วนตัวจะลดน้อยลง ผู้เล่นแต่ละคนมิอาจจะทำอะไรตามใจตนเอง แต่จะต้องเป็นไปตามกฏข้อบังคับ ฉะนั้นจึงควรที่จะเข้าใจถึงวัตถุประสงค์เฉพาะของกิจกรรม แต่ละประเภทด้วย ไม่เพียงแต่เล่นเพราะต้องการเล่นเท่านั้น(อุดร รัตนภักดิ์,2523 : 47 – 79)
สรุปหลักปรัชญาพลศึกษาตามแนวความคิดของปรัชญาอัตถิภาวนิยม
โปรแกรมพลศึกษาจะต้องให้เสรีภาพแก่ผู้เรียนในการเลือกกิจกรรม โดยจัดกิจกรรม
ไว้หลายประเภทให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ในทางปฏิบัติอาจเกิดปัญหาขึ้น เพราะเหตุว่า ถ้าฝ่ายผู้สอนพลศึกษาให้เสรีภาพแก่ผู้เรียนอย่างเต็มที่โดยการจัดกิจกรรมมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ส่วนอื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น อุปกรณ์ สถานที่ ผู้สอนอาจจะไม่เพียงพอ แต่ก็เป็นเจตนารมณ์ของปรัชญาอัตถิภาวนิยมในการที่จะให้ความสำคัญแก่เสรีภาพของบุคคล จึงควรจัดโปรแกรม กิจกรรมพลศึกษาให้มีหลายประเภทเพื่อให้ผู้เรียนเลือกตามความสนใจ การเข้าร่วมกิจกรรม ที่ตนเองเลือก เป็นโอกาสที่ผู้เรียนจะได้ประเมินคุณค่าของตนเองรวมทั้งทักษะความสามารถ กิจกรรมที่ตนเลือก ผู้สอนมีบทบาทช่วยเสริมสร้างบรรยากาศที่จะช่วยให้ผู้เรียนรู้ถึง ความรับผิดชอบไปด้วยในขณะเดียวกัน
การเล่นมีผลต่อการพัฒนาทางการสร้างสรรค์ นักพลศึกษาตามแนวปรัชญา
อัตถิภาวนิยม มีความเชื่อมั่นว่าขณะที่ผู้เรียนเล่นกีฬาหรือกิจกรรมต่าง ๆ นั้น เป็นโอกาสของพัฒนาทางการสร้างสรรค์ การเล่นกีฬาประเภทเดี่ยวและประเภททีมให้มีความสำคัญเท่าเทียมกัน แต่กีฬาที่เล่นเป็นทีมโดยมุ่งการได้รับชัยชนะเป็นเป้าหมายที่มีความสำคัญน้อยกว่า กิจกรรมการบริหารร่างกาย ซึ่งถือเป็นพื้นฐานเบื้องต้นของการสร้างสรรค์ทางด้านตัวบุคคลแต่ละคน
กิจกรรมพลศึกษามุ่งให้ผู้เรียนรู้จักตนเอง การเข้าร่วมกิจกรรมทั้งประเภทเดี่ยวและ
ประเภททีม ทำให้ผู้เรียนได้รู้จักตนเอง ความสามารถ ความชำนาญของตนเอง ผลจากการ แข่งขันที่เกิดขึ้นแก่ผู้เรียน คือ สิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณากิจกรรมประเภทที่ช่วยเกิดการทดสอบ ตนเอง เป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ช่วยพัฒนาความรู้สึกรับผิดชอบต่อตนเอง และช่วยให้ผู้เรียน
รู้จักตนเอง
ผู้สอนมีบทบาทเป็นที่ปรึกษา นักปรัชญาพลศึกษาแนวอัตถิภาวนิยม ถือหลักการว่า
ผู้สอนจะต้องมีความรับผิดชอบต่อตัวผู้เรียน เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ทดลอง ตัดสินใจ เลือก กิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดไว้ ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำแนวทางที่จะเลือกและการเลือกวิธีต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนไม่ลังเลหรือวิตกว่าตนควรจะเลือกอย่างไรดี
จึงเห็นได้ว่าการจัดพลศึกษาตามแนวปรัชญาการศึกษาอัตถิภาวนิยม มุ่งให้เสรีภาพแก่ผู้เรียนอย่างเต็มที่ จึงจัดโปรแกรมกิจกรรมพลศึกษาหลากหลายให้เลือก ทำให้ผู้เรียนได้รู้จักตนเองและพัฒนาการสร้างสรรค์ตัวเอง
กิจกรรม 4.2.4
จงอธิบายการจัดพลศึกษาตามแนวปรัชญาการศึกษาอัตถิภาวนิยม
โปรดเขียนคำตอบในแบบฝึกปฏิบัติ กิจกรรม 4.2.4
แนวตอบกิจกรรม 4.2.4
การจัดพลศึกษาตามแนวปรัชญาการศึกษาอัตถิภาวนิยม มุ่งให้เสรีภาพแก่ผู้เรียนอย่างเต็มที่ จึงจัดโปรแกรมกิจกรรมพลศึกษาหลากหลายให้เลือก ทำให้ผู้เรียนได้รู้จักตนเองและพัฒนาการสร้างสรรค์ตัวเอง